พูดคุยเรื่องสูทกับ The Decorum
สำหรับเราแล้ว มันไม่ง่ายนักที่จะเปิดประเด็นคุยเรื่องเสื้อผ้ากับใครที่เรารู้จัก โชคดีที่เรามีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ “เพราะเสื้อผ้า” ทำให้เราได้รู้จักกัน นอกจากเราจะคุยเรื่องนี้กันได้อย่างสนุกปากแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจในการพูดคุยเหล่านั้น ไม่ใช่แค่ความรู้ ประสบการณ์ที่เราแลกเปลี่ยนกัน บางครั้งคือการได้เห็นมุมมอง การใช้ชีวิต ของคนๆนั้น แต่มุมที่ผมชอบที่สุดคือการได้รู้ว่าสิ่งที่เรามองเขาตอนที่ยังไม่รู้จักกันกับตอนที่รู้จักกันแล้วมันเหมือนหนังคนละม้วนเลย
เราเลยคิดว่าเราจะพยายามรวบรวมบทสนทนาต่างๆมาแชร์ เพราะหลายครั้งไอเดียใหม่ๆของเราก็เกิดขึ้นจากการพูดคุยกับเพื่อนเหล่านั้น และเราเชื่อว่าคนที่ติดตามอ่านบทความของเรามาโดยตลอดก็คงอยากได้เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยจากการพูดคุยของเรานี้เช่นกัน
สำหรับสองคนที่ผมจะพูดคุยด้วยในวันนี้ บางคนอาจจะคุ้นหน้าทั้งสองจากใน Instagram ของเรามาบ้าง เขาเป็นคนนำแบรนด์ Kamakura Shirts เข้ามาขายในไทยอย่างเป็นทางการ แต่เราขอยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมสนใจในตัวพี่ทั้งสอง
ถ้าใครได้เลื่อนดู feed ของพี่กาย @master_keynes และพี่บอล @mrballoon ก็คงจะรู้สึกถึงอินเนอร์ของการแต่งตัวในสไตล์ที่เราเรียกกันว่า Classic Menswear จากทั้งสองคน ส่ิงที่เราสนใจในตัวเขาไม่ใช่จำนวนสูทกับแจ็คเก็ตที่เขามี แต่เป็นประสบการณ์ในการเส้นทางสาย Sartorial มากกว่า
แนะนำตัวกับที่มาและคำนิยามของสไตล์ Classic Menswear กันหน่อย?
Guy: กายครับ ผมทำงานอยู่กระทรวงการคลัง ผมชอบพวกเสื้อผ้าสไตล์นี้ ตั้งแต่ตอนเรียนโรงเรียนประจำที่แคนาดา ซึ่งโรงเรียนก็บังคับให้ใส่ Blazer ตอนเรียน แม้แต่เวลากินอาหารเย็นต้องใส่ Blazer ไปที่ห้องอาหารด้วย มันก็เลยเหมือนความเคยชินไปแล้ว พอโตขึ้นมามันเลยกลายเป็นติดสูท เหมือนมันเป็นส่วนหนึ่งของเราและยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในชีวิตประจำวันไปด้วย
Ball: ผมบอลนะครับ ที่บ้านบอลทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า เราเลยชอบเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้แต่งตัวแบบนี้ สไตล์มันก็เปลี่ยนไปตามวัย และการใช้ชีวิตด้วย แต่ตอนนี้เราก็มั่นใจแล้วว่าชอบแต่งตัว Classic Menswear ชอบไปทางสไตล์อิตาลีที่ให้ลุคดูสบายๆหน่อย ชอบใส่เสื้อเชิ้ตตลอดเวลากับกางเกงขายาวแล้วก็รองเท้าหนัง มาเจอกับพี่กายก็เพราะเราชอบอะไรคล้ายๆกัน
ฟังแบบนี้ Classic Menswear ดูเหมือนจะเป็นแนวจัดเต็ม แต่มันจะเหมาะกับเมืองไทยหรือใส่ในชีวิตประจำวันหรอพี่?
Guy: จริงๆ ผมก็ใส่เกือบทุกวันนะ ใส่เพราะชอบ และงานที่ทำมันก็ใส่ได้เวลาประชุม วันหยุดก็ใส่แจ็คเก็ต เพียงแต่เลือกตัวที่เหมาะสม ผ้าที่เหมาะสมกับเรา ซึ่งใส่พวกนี้แล้วมันทำให้เราดูดีนะ อีกอย่างคือสูทหรือแจ็คเก็ตที่ดีมันช่วยปิดบังจุดด้อยเราและเสริมในจุดที่ดีของเรา ซึ่งถ้าเรามองกันจริงๆ คนรุ่นก่อนๆแต่งตัวก็ใส่แจ็คเก็ตหรือสูทกันทุกวันนะ วัยรุ่น วัยทำงานเขาก็ใส่กันหมดนะ
Ball: สำหรับบอล สูทเราไม่ได้ใส่ทุกวันนะ แต่จะหยิบเป็นแจ็คเก็ตมาใส่วันเสาร์อาทิตย์ แต่จะผูกไทเกือบทุกวัน เป็นการเพิ่มสีสันให้กับชุดที่ใส่ดีครับ บอลกับพี่กายจะต่างกันตรงที่พี่กายชอบใส่เป็นสูทเลย ผมชอบใส่เป็นแจ็คเก็ตมากกว่า มันดูสบายๆ ไม่ดูเป็นทางการเกินไป แล้วก็สบายๆเหมาะกับอากาศเมืองไทยมากกว่าด้วย
จัดเต็มขนาดนี้ถามตรงๆ เลยว่าประหม่าเวลาใส่ในกรุงเทพไหมครับ เพราะคนส่วนมากก็ยังไม่คุ้นกับการแต่งสไตล์นี้ในชีวิตประจำวันกันเหมือนเมืองนอกด้วย?
Guy: แรกๆก็เขินแหละ แต่หลังๆก็ชิน ก็คนมันชอบ ใส่สูท ใส่แจ็คเก็ต เสื้อเชิ้ตกับไท ผมว่าคนอื่นมองเพราะว่าไม่คุ้นมากกว่า แต่ไม่ใช่เพราะผมแปลกนะ (ฮ่าๆๆ)
Ball: ก็ไม่เขินนะ เอาจริงเหมือนตอนนี้เราก็โตขนาดนี้แล้ว เรารู้แล้วว่าเราชอบแต่งตัวแบบไหน สไตล์ไหนที่เป็นตัวเรา รู้สึกว่าเราชอบอะไรก็แต่งแบบนั้น ไม่ต้องแคร์สายตาคนอื่นหรือความคิดคนอื่นแล้วอะครับ ถ้าเป็นตอนเด็กเด็กก็คงแคร์บ้าง
พูดถึงเรื่องสูทกับสไตล์คนไทยบ้างดีกว่า แล้วสูทสำเร็จรูป (RTW Ready-To-Wear) กับสูทตัด (MTM Made-to-Measure) แบบไหนดีกว่ากัน?
Guy: หลายคนจะต้องเคยคิดว่าสูทซื้อหรือ RTW ยี่ห้อดังๆทั้งของยุโรปและอเมริกาใส่แล้วจะต้องดูดี หรือการหาแบบจากเนต จากแมกกาซีนไปตัดตามร้านแบบ MTM จะทำให้เราดูดีเหมือนนายแบบพวกนั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันยังต้องดูไปถึง fit เวลาใส่และ pattern ของสูทเองด้วยว่าเข้ากับเราหรือไม่ เพราะคนเรารูปร่างไม่เหมือนกัน สูทที่ใส่แล้วดูเข้ารูปสวย ไม่ใช่อยู่ที่ว่าสูทนั้นจะต้องเป็นพวกตัวเล็กๆ (Slim fit) มันอยู่ที่โครงสร้าง อยู่ที่แพทเทิร์นและเทคนิคการตัดเย็บที่จะทำให้มันดูกลมเป็นธรรมชาติ ไม่ดูแข็ง (Boxy) ซึ่งผมมองว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจตรงนี้ แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าสูทซื้อจะไม่ดีนะ มันมีปัจจัยเรื่องความสะดวก ค่าใช้จ่าย และรูปร่างของแต่ละคนประกอบด้วย
Ball: เราพูดในเรื่องสไตล์บ้างดีกว่า สำหรับบอล บอลว่าไม่มีการแต่งตัวสไตล์ไหนดีหรือไม่ดีนะ มองว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไรมากกว่า เราเลยไม่ชอบมองด้วยการตัดสินใครว่าแต่งตัวดีไม่ดี เราชอบสไตล์แบบนี้ แต่ไม่เห็นจำเป็นว่าสไตล์แบบอื่นจะผิด แต่เราเชื่อว่าทุกสไตล์มันคงมีหลักการบางอย่างอยู่ ซึ่งเราคิดว่ามันก็ดีกว่าที่จะรู้ว่าอะไรคือพื้นฐาน เช่นเราจะไม่ชอบใส่กางเกงเอวตำ่เพราะเวลาใส่กับสูทมันจะมีช่องว่างะหว่างขอบกางเกงกับกระดุมเสื้อ มันดูไม่สมส่วน ซึ่งแต่ละสไตล์มันก็คงมีอะไรแบบนี้
อีกคำที่เราได้ยินกันบ่อยคือสูท Bespoke จริงๆแล้วคืออะไร และสูทแบบ Bespoke กับ MTM นี่มันต่างกันไหม?
Guy: สูท bespoke จริงๆ ก็มีคำอธิบายไว้อยู่แล้วในหลายๆเวบด้วยกัน ก็คือสิ่งที่ทำขึ้นมาเพื่อเราโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นสำหรับพวกสูทหรือแจ็คเก็ต Bespoke ก็คือการขึ้น pattern ใหม่จากการวัดขนาดรูปร่างของเรา รวมงานมือซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความสวยและความโค้งมนของสูท (Lapel Roll) ซึ่งบางทีเครื่องจักรไม่สามารถทำได้ และการ fitting ส่วนมากจะมี 2 ครั้ง โดยครั้งแรก (Basted Fitting) มีความสำคัญสำหรับช่างตัดเสื้อเพราะเป็นการประกอบชิ้นเสื้อด้วยด้ายง่ายๆ ทำให้ปรับแก้ไขอะไรได้ง่ายกว่า
ตอนนี้คำว่า Bespoke มันถูกใช้กันเยอะ ซึ่งจริง ๆ ร้านสูทในเมืองไทยที่ทำได้แค่ MTM ก็เรียกตัวเองว่าเป็น Bespoke ไปแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วมีความแตกต่างกัน เพราะ MTM ทำมาจาก pattern ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว และนำมาปรับในบางจุดเพื่อให้ fit กับผู้ใส่ แล้วส่วนมากช่างสูทในไทยก็ทำโครงสร้างแบบ fused ไม่ได้ใช้ canvas ซึ่งตัวสูทเองก็จะไม่เป็นธรรมชาติทิ้งตัวไม่สวยและดูแข็ง
Ball: Bespoke สำหรับเรา เราคิดว่ามันมากกว่าเสื้อผ้านะ มันคืองาน craft นะ มันมีการใส่งานมือ ความทุ่มเทลงไปในนั้นด้วย ไม่ใช่แค่การวัดตัวมาฟิตติ้ง 2 ครั้งอย่างงั้น คิดเหมือนพี่กายว่าในประเทศไทยตอนนี้ใช้คำนี้กันเกร่อมาก สูท Bespoke จริงๆเป็นการใช้มือเกือบจะทั้งหมด ตั้งแต่ขึ้นชั้น canvas เข้าหัวแขน ไปจนถึงรังดุม ซึ่งมันมีบางอย่างที่เรารู้สึกตรงกับตัวเรา เราไม่ได้ชอบใส่เสื้อผ้าที่ต้องให้รู้ว่าเป็นแบรนด์อะไร ไม่ชอบอะไรที่เห็นชัดๆ ซึ่งรายละเอียดในงานมือพวกนี้เช่นการทำรังดุม ดำนำ้ เราอาจจะเห็นอยู่คนเดียวแต่เรารู้สึกว่าแค่เราเห็นก็พอแล้ว
ตัดสูทเมืองนอกต่างจากเมืองไทยไหมครับ? เห็นสองคนนี้มีไปตัดสูทที่เมืองนอก ทั้งญี่ปุ่นและฮ่องกงด้วย ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยสิครับว่ามันแตกต่างกันยังไงบ้าง
Guy: มันก็เหมือนเราชอบสไตล์ของแต่ละศิลปินหรือดีไซน์เนอร์มั้งผมว่า คือผมชอบสูทสไตล์อิตาลีทั้งแบบ Napoli แล้วก็ Florence คือจะมีความมนความโค้งและเข้ารูปมากกว่า คือผมไม่ได้ชอบสูทสไตล์อังกฤษที่มันดูแข็งบึกบึนเสริมไหล่มีความแข็งๆแมนๆ (masculine) สูงได้รับอิทธิพลมาจากทหาร (สูทไทยส่วนมากจะเป็นสไตล์อังกฤษ) ซึ่งสูทที่ผมตัดจริงๆ ช่างส่วนมากคือช่างญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นจะชอบไปเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ทำงานกับช่างในอิตาลีโดยเฉพาะใน Napoli แล้วราคาก็ไม่แพงมาก คือถ้าผมต้องไปซื้อ Armani หรือเสื้อสูทสำเร็จรูปราคาเป็นแสนของเมืองนอก ผมขอเลือกตัดช่างพวกนี้ดีกว่า เพราะความสวยมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับยี่ห้อในความเห็นผม
Ball: ร้านสูทในไทยจะได้สไตล์วีธีทำมาจากทางอังกฤษ ซึ่งเราก็เคยลอง แต่เราไม่ได้ชอบแบบนั้น หลังๆเราเลยเลือกตัดที่ต่างประเทศมากกว่า ชอบตัดช่างที่ญี่ปุ่น เพราะมีโอกาสไปบ่อยและเราชอบสไตล์ของเขามากกว่าในไทย ก็คงความเห็นคล้ายๆ พี่กาย ช่างที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไปเทรนจากอิตาลี พวกสไตล์วิธีทำก็จะมาจากทางนั้นเป็นแบบที่เราชอบ คือถ้าให้เราต้องซื้อสูท Tom Ford แบรนเนมเราก็เลือกที่จะตัดกับช่างมากกว่า เราชอบแบบนี้มากกว่า
ช่วยแนะนำหน่อยครับว่าสำหรับคนไทย พี่ๆ สองคนแนะนำสูทแบบ RTW หรือแบบ MTM ? แบบไหนเหมาะกับคนไทยมากกว่ากัน?
Guy: สำหรับคนหุ่นมาตรฐานจริงๆ ผมว่าหาใส่ RTW ดีๆก็เหลือเฟือนะแล้วไปเก็บเอา คือเอาจริงๆ ผมว่าใส่สูทของพวก United Arrows หรือแบรนด์ของญี่ปุ่นอื่นๆ ราคาสามหมื่น นี่ก็ดูดีเลยนะ หาซื้อเสื้อผ้าออนไลน์มือสองก็ได้ ทำได้หมด ส่วนตัวผมก็ชอบพวกนี้ พวก Suit Supply ส่วนตัวแล้วจะแนะนำให้เพื่อนๆ ไปซื้อพวกนี้ดีกว่าตัด เพราะผ้าก็ผ้านอก construction ก็โอเค ราคาก็คุ้มคุณภาพกว่า บางทีไปร้านในเมืองไทยไม่รู้เรื่องก็โดนช่างบางคนไม่พูดความจริงหลอกเราก็เยอะ
Ball: ถ้าจะตัดสูทด้วยในราคาไม่แพง เราจะเเนะนำให้ไปลอง RTW ก่อนดีกว่า ส่วนใหญ่มันจะออกมาดีกว่าในราคาที่พอพอกัน คือ RTW อาจจะเจอไซส์เราพอดีก็ได้
เพื่อนๆ คนอ่านหลายคนคงมีประสบการณ์ลองผิดลองถูกที่ดูดเงินเราไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้สูทที่ถูกใจซักที… รบกวนพี่ๆ สองคนบอกเทคนิคการเลือกซื้อหรือตัดสูทหน่อยครับว่าควรเริ่มยังไงดี?
Guy: เลือกซื้อสูท ผมว่าสำคัญสุดคือดูสูทที่ฟิตเรา อย่าสนใจยี่ห้อมาก ตัวนั้น sale แต่ใส่ไม่ได้ก็อย่าฝืน ค่อยๆหา ค่อยๆลองไป สูทตัวแรกที่ทำให้ผมชอบจริงๆ สมัยเด็กๆ ผมซื้อพวกสูทญี่ปุ่นแบรนด์แบบตลาดๆ ยี่ห้อ Taka Q นี่แหละไปซื้อที่ห้าง Avon ในนาริตะ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาไปเป็นพวก ABA House ของญี่ปุ่น แล้วก็ United Arrows, Suit Supply ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้ แล้วก็ค่อยๆ มาลองตัดพวก Bespoke เพราะความชอบแล้วก็หุ่นผมก็ไม่ค่อยจะดี ข้างบนเล็กแต่พุงใหญ่ก้นใหญ่ มันเลยเป็นอะไรที่ลำบากหน่อย ข้อดีของเสื้อผ้าสไตล์พวกนี้คือมัน timeless คุณใส่ได้ไปตลอดแม้จนแก่ก็ยังดูดีซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่านะสำหรับผม
Ball: สำคัญสุดคือฟิตต้องมาก่อน คอกับไหล่เป็น 2 อย่างที่ถ้ามันไม่พอดีทำยังไงก็แก้ไม่ได้ สูทพอดีเวลาใส่ไม่ควรมีช่องว่างที่คอเรากับคอเสื้อสูท มันควรจะแนบสนิทไปกับคอเรา หลวมหรือคับไปยังพอแก้ได้ ความยาวปรับได้นิดหน่อย แต่คอกับไหล่ไม่สามารถแก้ได้เลย
ท้ายสุดจริงๆ แล้ว ให้ฝากร้านได้แบบสั้นๆ เอาสั้นๆ นะ!
ด้วยความชอบเสื้อผ้าสไตล์ Classic Menswear โดยเฉพาะพวกสูทและแจ็คเก็ต ก็เลยกำลังเริ่มทำร้านที่เป็น Specialist ทางด้าน Sartorial นั่นก็คือ The Decorum ไปด้วย เราอยากให้มีเสื้อผ้าที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมมาให้คนไทยได้ใส่กันเหมือนกับที่คนญี่ปุ่นหรือชาติอื่นๆเขามี และเสื้อผ้าพวกนั้นก็เป็นแบรนด์ที่พวกเราใช้กันจริงๆในทุกวัน เช่น เสื้อเชิ้ต Kamakura จากญี่ปุ่นที่ผมคิดว่าเป็นเสื้อเชิ้ตที่มีคุณภาพสูงในราคาที่สมเหตุสมผลมาก ด้วยราคา เนื้อผ้า และคุณภาพการตัดเย็บน่าจะเหมาะสมกับคนไทยด้วย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บทสนทนาเรายาวเหยียดแบบนี้ แต่เราก็มั่นใจว่าบทความนี้ให้ความรู้เรื่องสูทได้มากมายคุ้มค่ากับการอ่านแน่นอน เพราะไม่ใช่แค่เลือกซื้อสูทเป็น แต่ต้องรู้จักกาลเทศะและวิธีใส่สูทให้ถูกต้องตามธรรมเนียมสากลอีกด้วย