สูท Omakase

เพราะการตัดสูท bespoke ในปัจจุบันนั้นให้ประสบการณ์ไม่ต่างกับการทานอาหารแบบ omakase

เมื่อคำว่า bespoke ถูกใช้กันอย่างสิ้นเปลือง จนความหมายและความน่าเชื่อถือของคำนี้ค่อยๆเลือนหายไป แต่ร้านสูทที่ให้บริการตัดสูท bespoke จริงๆนั้นก็ได้พัฒนาไปมากเกินกว่าที่เราจะใช้คำๆเดิมนิยามได้ ถ้าเราแปลจากภาษาอังกฤษตรงตัว สูทที่ทำขึ้นเพื่อให้คนๆหนึ่งใส่โดยเฉพาะ เราก็สามารถเรียกสูทตัวนั้นว่า สูท bespoke ได้ทันที

ปัจจุบันการตัดสูทแบบนี้ให้อะไรมากกว่าแค่สูทหนึ่งตัว ที่ขึ้นแพทเทิร์นใหม่และตัดออกมาให้พอดีกับตัวเรา ในความคิดผม มันคงไม่มีคำจำกัดความไหนดีไปกว่าคำว่า “omakase” เพราะการตัดสูท bespoke นั้นให้ประสบการณ์ ไม่ต่างกับการทานอาหารแบบ omakase

ทำไมต้อง omakase ?

Omakase (โอมากาเสะ) คำที่มักจะใช้กันในธุรกิจร้านอาหารระดับสูง ซึ่งแปลแบบเข้าใจง่ายๆว่าเชฟจัดให้” เพราะในร้านอาหารที่เสิร์ฟ omakase ไม่มีแม้กระทั่งเมนูอาหารให้เราสั่ง สิ่งเดียวที่เราทำได้เมื่อเดินเข้าไปในร้านอาหารประเภทนี้คือนั่งลงและรออาหารจานแรกมาวางตรงหน้า ลูกค้าทุกคนจะได้ทานอาหารเหมือนกัน อาหารที่ผ่านกระบวนการคิด เลือก และรังสรรค์ออกมาอย่างพิถีพิถันโดยเชฟประจำร้าน

เมื่อเรานำคำนี้มานิยามสูท “omakase suit” ก็แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจาก สูทที่ทำตามใจช่าง

ิbespoke suit fitting

สูทที่ทำตามใจช่าง

เชฟแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีสไตล์การทำอาหารไม่เหมือนกัน ช่างตัดสูทก็เช่นเดียวกัน แต่ละคนก็มีเทคนิค มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ถ้าเปรียบกับศิลปินก็คงต้องใช้คำว่า มีลายเซ็นเป็นของตัวเอง ลายเซ็นที่ว่านี้ก็คือ House Cut นั่นเอง อย่าง Liverano & Liverano เป็นสูทที่มีลายเซ็นค่อนข้างชัดเจน ถึงแม้สูท Liverano จะไม่ใช่สูทแบรนด์เดียวที่ตัดสไตล์ Florence (Firenze) แต่เราก็สามารถมองผ่านแล้วรู้เลยว่านี่คือสูท Liverano ไม่ใช่ Vestrucci ไม่ใช่ Corcos

สูท Liverano
Liverano & Liverano Suit

อีกแบรนด์หนึ่งที่มีสไตล์ของตัวเองชัดเจนคือสูทของ Sartoria Ciccio แม้ว่าเจ้าตัวจะไปร่ำเรียนมาจากอาจารย์ AP ถึงเมือง Napoli แต่พอกลับมาญี่ปุ่น เปิดร้านสูทของตัวเอง ก็ไม่ได้ทำตามแบบที่เรียนมาเป๊ะๆ แต่เขาได้พัฒนาสูทให้มีรูปแบบและเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เมื่อหยิบมาเทียบกับสูทจากเพื่อนร่วมสำนักอย่าง Sartoria Raffaniello ก็จะเห็นได้ว่าสูททั้งสองมีความต่างที่ชัดเจน (และต่างจากของ AP เองด้วย) แม้ว่าทั้งคู่จะยังคงความเป็นสูท Napoli เอาไว้ โดยสังเกตได้จากเส้น dart ด้านหน้าที่ลากยาวมาถึงชายเสื้อ

House Cut คือหัวใจสำคัญของร้านสูท เพราะเป็นปัจจัยแรกๆที่เราใช้ในการตัดสินใจเลือกร้านที่จะตัดสูทด้วย เมื่อเราเลือก cut ที่ถูกใจได้แล้ว ที่เหลือก็ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของช่าง

เวลาเราไปทานอาหารที่ร้าน ถึงแม้จะไม่ใช่ร้านระดับ omakase ก็ตาม เราก็ไม่เคยไปบอกเชฟให้ทำแบบนู้นแบบนี้ อย่างมากก็แค่เลือกระดับความสุก rare, medium rare, medium well อะไรก็ว่าไป เชฟบางคนไม่มานั่งถาม preference เราด้วยซ้ำ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำออกมาคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาต้องการนำเสนอ ฝรั่งมาทานอาหารไทยก็ต้องทานรสเผ็ด ถ้าไม่เผ็ดนั่นไม่ใช่อาหารไทย ส่วนทานได้ไม่ได้ ชอบไม่ชอบ คือประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับกลับไป

ถ้าคุณเดินเข้าไปร้าน Liverano แล้วไปบอกว่า ผมอยากได้ปกเล็กลง ความยาวสั้นขึ้นกว่าปกติหน่อย เขาก็จะส่ายหัว แล้วตอบกลับมาว่า ขอโทษ เราทำให้ไม่ได้หรอก เพราะสูทที่ออกมามันก็จะไม่ใช่สูท Liverano ที่คุณต้องการ

ผ้าสูท

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม ?

ผ้า เหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่เราสามารถเลือกได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกจริงๆ เราก็เลือกไม่ถูก ไม่ต่างกับประสบการณ์การเลือกไวน์ในซุปเปอร์ ตาลาย ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ผ้าที่กองอยู่ตรงหน้าไม่รู้กี่เล่มต่อกี่เล่ม อันไหนดี อันไหนเหมาะ สุดท้ายก็ต้องยกมือให้ช่างช่วยเลือกอยู่ดี

ช่างสูทก็เหมือนเชฟที่จะทำหน้าที่ shortlist ไวน์จาก shelf มาให้เราเลือก เขาเป็นคนที่คลุกคลีกับผ้ามาตลอดอาชีพการทำงาน ตัวนี้บางแต่ทิ้งตัวดีกว่า ตัวนั้นออกแดดแล้วจะมีเหลือบสีอื่นขึ้นมา ทำให้เราตัดสินใจเลือกผ้าได้ง่ายขึ้น และบางคนอาจจะไม่รู้ว่า ช่างก็มีผ้าที่ถนัดมือด้วย ช่างบางคนชอบน้ำหนักผ้าอังกฤษ ในขณะที่บางคนชอบผ้าอิตาลี การได้ปรึกษาช่างอย่างใกล้ชิดจึงเป็นข้อดีอีกอย่าง และช่วยให้เรามั่นใจว่าเราจะได้สิ่งที่ดีที่สุดจากมือช่างคนนี้อีกด้วย

คุณค่าที่คุณคู่ควร

ถ้าพูดถึงความแตกต่างระหว่างอาหารทั่วไปกับอาหารจำพวก fine dining หรือ omakase สิ่งที่ต่างกันชัดเจนที่สุดคือวัตถุดิบ อาหารที่ใช้วัตถุดิบที่คุณภาพดีกว่าย่อมให้รสชาติอร่อยกว่า แต่ก็ตามมาด้วยต้นทุนที่สูงกว่า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอาหารพวกนี้ถึงมีราคาสูงกว่าหลายเท่า

สำหรับสูท วัตถุดิบอาจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้สูท omakase ดีกว่าสูททั่วไป เพราะถ้าพูดกันถึงวัตถุดิบที่ต่างกัน เราก็คงยกมาได้แค่เรื่องของ กระดุมที่คุณภาพดีกว่า จะเป็น horn corozo อะไรก็ว่าไป หรือเรื่องของหางม้า (canvas) ถ้าเกรดดีหน่อย ก็จะมีน้ำหนักเบากว่า อะไรทำนองนั้น แต่เรื่องแค่นี้ไม่ได้มีนัยยะ ให้สูทประเภทนี้โดดเด่นออกมา

แล้วอะไรคือคุณค่าที่ทำให้สูท omakase ต่างออกไป ? คำตอบก็คือ งานมือ สูท omakase คือสูทที่ทำด้วยมือ 100% ไม้บรรทัดวาง ชอล์คขีด กรรไกรตัด เข็มสอย เนา เย็บ ไม่แปลกนักที่สูท 1 ตัวจะใช้เวลามากกว่า 70 ชม.ในการทำ และนอกจากจะให้รายละเอียดที่สวยกว่า การเข้าชิ้นส่วนด้วยมือยังทำให้สูทตัวนั้นใส่สบายกว่า เพราะการเย็บมือสามารถเผื่อรอยต่อแต่ละชิ้นให้รองรับการดึงรั้งได้ดีกว่า เวลาเราขยับ เอี้ยว หรือก้ม ก็จะไม่รู้สึกอึดอัดเหมือนโดนรัดไว้

สูททำมือ bespoke

ประสบการณ์ที่ต้องแลกมาด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวไป ราคาที่สูงกว่าการตัดสูททั่วไปส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนของวัตถุดิบและชั่วโมงการทำงานของช่างที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว อีกส่วนหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เราเรียกว่า ค่าประสบการณ์ ถามว่า ซูชิ omakase มื้อละ 3,000 กับ 6,000 บาท ต่างกันอย่างไร ? เมื่อถึงจุดๆหนึ่งคุณภาพของวัตถุดิบ คงไม่ได้หนีห่างกันมาก มันเลยเป็นเรื่องของกรรมวิธีการปรุง และความพิถีพิถันในรายละเอียดของเชฟที่ทำให้รสชาติอาหารออกมาต่างกัน และแน่นอน ชื่อเสียง ความเก๋า การนำเสนอ และบทสนทนาของเชฟ ที่เราสัมผัสในขณะรับประทานอาหาร บวกรวมกันเป็นค่าประสบการณ์ของอาหารมื้อนั้น สูทก็เช่นกัน ราคาที่เพิ่มขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลทางต้นทุน ล้วนแล้วแต่เป็นค่าประสบการณ์ ทั้งหมดนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะให้มูลค่าของประสบการณ์ที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน

ในอีกมุมหนึ่ง หากเรามองว่าการตัดสูทเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง การจ่ายเงินเพื่อตัดสูทก็เหมือนกับการซื้อผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นชิ้นงานที่มีลายเซ็นของศิลปินด้วย เพราะ House Cut ทำหน้าที่ตรงนี้ได้อย่างชัดเจน และมูลค่าของลายเซ็นนี้เองเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สูทแต่ละแบรนด์ราคาต่างกัน

สูท Omakase มีให้ตัดที่ไหนบ้าง ?

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราให้ค่าประสบการณ์กับอาหาร แต่ไม่ค่อยให้ค่าประสบการณ์กับเสื้อผ้า ร้านสูทในไทยเลยไม่ค่อยพัฒนาไปไหนไกล เราจึงมีร้านสูทที่เป็นเหมือนร้านอาหารตามสั่งเต็มไปหมด แต่แทบไม่มีร้านสูทที่เสิร์ฟ omakase จริงๆเลย

ถ้าอยากมีประสบการณ์ตัดสูท bespoke ที่ในระดับ omakase ดูสักครั้ง อาจต้องไปตัดที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาลี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีช่างที่ฝีมือดี สำหรับในไทย ก็ต้องรอการมา Trunk Show ของร้านสูทจากต่างประเทศ ที่มักจะมาไทย 2-4 เดือนครั้ง เช่น Liverano ที่ The Somchai หรือ Sartoria Raffanielo ที่ The Decorum

words by
Published on