เมื่อเราหยิบเสื้อผ้า summer มาใส่ใน winter
อากาศหนาว เป็นสิ่งที่เราตั้งหน้าตั้งตาคอยกันที่สุด แต่มันก็ทำเราผิดหวังปีแล้วปีเล่า “ปีนี้ไม่หนาวเลย” เป็นคำบ่นที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เป็นประจำ มนุษย์กรุงเทพอย่างเราๆยิ่งไม่ต้องพูดถึง ปีนึงเราจะสัมผัสอากาศเย็นๆสักอาทิตย์หนึ่งได้ พออากาศเย็นลงหน่อย ประโยคคำถามที่เรามักจะได้ยินตามมา “นี่มันเรียกว่าเย็นแล้วจริงดิ” นี่แหละ สิ่งที่เราเรียกว่าอากาศ winter แบบไทยๆ ซึ่งวันนี้เราจะมาเลือกชุดใส่ในอากาศแบบนี้กัน
winter แบบไทยๆอีกหนึ่งรูปแบบที่บางคนอาจจะสัมผัสได้ตลอดทั้งปี ผมเรียกมันว่า office winter ซึ่งผมว่าในไทยก็มีหลายที่เหมือนกันที่สาดแอร์กันแบบไม่ยั้ง บนรถ BTS บางขบวนผมก็เคยเจอ ขึ้นไปทีนี่สั่นเลย
Layering vs. Winter (แบบไทยๆ)
ปกติผมไม่ค่อยอินกับการใส่เลเยอร์ในอากาศที่ยังไม่ถึงกับหนาวแบบนี้ เพราะผมเป็นคนขี้ร้อน ใส่หลายๆชั้นออกมาเดินข้างนอกไม่กี่นาทีก็เหงื่อออก เสื้อผ้าในตู้ผมส่วนใหญ่เลยเป็นเสื้อผ้า summer ที่ระบายอากาศค่อนข้างดี แต่ผมก็ไม่เคยมีความคิดจะเอาเสื้อ summer พวกนี้มาเลเยอร์ด้วยกันเลย
จนกระทั่งได้มีโอกาสนั่งคุยกันในทีม เรามีความเห็นตรงกันว่า อากาศหนาวแบบไทยๆ จะว่าไปมันก็เทียบได้กับอากาศในฤดูร้อนของฝรั่ง แต่ทำไมฝรั่งมันยังเลเยอร์กันได้ในหน้าร้อน เราเลยได้โอกาสเอาไอเดียนี้มาลองเลือกชุดใส่กันดู
จุดประสงค์ของ layering ในวันนี้เลยไม่ใช่เพื่อกันหนาว แต่เพื่อเพิ่มลูกเล่น เพิ่มความน่าสนใจให้กับชุดของเรา โดยที่ใส่แล้วยังไม่รู้สึกร้อน
แล้วถ้าไม่เคยใส่ layer มาก่อนจะเริ่มยังไงดี ?
ง่ายๆแค่ไปรื้อในตู้เสื้อผ้าเราดูว่ามันมีอะไรที่ระบายอากาศดีๆบ้าง เสื้อผ้าที่เราใส่ๆกันมันแบ่งได้เป็น 2 พวกหลักๆ พวกแรกคือผ้าแบบถัก (Knit) หรือก็คือ เสื้อยืด เสื้อโปโล คาร์ดิแกน สเวตเตอร์ อีกพวกคือผ้าแบบทอ (Woven) หรือพวกเสื้อเชิ้ต เสื้อแจ็คเก็ต พอแยกได้แล้วก็ลองจับคู่ Knit กับ Woven ดูก่อนเพราะมันใส่ด้วยกันง่ายที่สุด แล้วค่อยๆลองผสมแบบอื่นไปเรื่อยๆ
อย่าลืมว่าเวลาใส่ เราควรให้เห็นเลเยอร์ในด้วยเสมอ ไม่งั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการใส่ชั้นเดียว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าอยากให้เห็นเลเยอร์ในตรงไหนบ้าง แขนเสื้อ ชายเสื้อ ปกที่ดูซ้อนกัน มีอะไรให้เล่นเยอะมาก
สิ่งที่ไม่อยากให้มองข้ามกัน คือการลองใส่ออกไปข้างนอกจริงๆ บางทีลองใส่อยู่บ้านไม่ก็ไม่คิดว่ามันจะร้อน แต่พอใส่ออกไปข้างนอกเท่านั้นแหละ ร้อนยับเลย พอได้ลองแล้วค่อยๆทำความเข้าใจกับมัน จับจุดให้ได้ว่ามันร้อนเพราะอะไร ตัวในหรือตัวนอกแล้วค่อยปรับกันไป
––
Knit + Knit
เสื้อยืดกับเสื้อยืดเป็นทางเลือกที่ไม่ยากนักสำหรับการจับคู่แบบนี้ ถึงแม้จะเป็นเสื้อยืดคอกลมสองตัวก็ตาม เราสามารถเลือกตัวที่คอกว้างไม่เท่ากัน ใส่ตัวนอกเป็นตัวที่คอกว้างเพื่อให้เวลาใส่แล้วเห็นสีเสื้อของชั้นล่าง หรือเล่นกับชายเสื้อที่ไม่เท่ากันก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถทำได้
สำหรับ Knit กับ Knit ในแบบของผม ผมเลือกเป็นเสื้อโปโลกับเสื้อยืด โปโลตัวนี้เป็นผ้า coolmax ซึ่งถือว่าระบายอากาศได้ดีมาก ถึงแม้จะเป็นผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ก็ตาม มันเป็นเสื้อเหมาะสำหรับฤดูร้อนมากๆ เมื่อหยิบมาใส่ในอากาศที่เย็นลงมาหน่อย ผมจึงเลือกเสื้อยืดคอกลมบางๆมาใส่เป็นชั้นในเพื่อลดดีกรีความเย็นจากลมที่สามารถซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายจากเสื้อตัวนอก
––
Knit + Knit
Knit กับ Knit อีกแบบของผม ผมเลือกชั้นนอกเป็นคาร์ดิแกนหน้าร้อน ที่ทำมาจากเส้นใยผสมระหว่างฝ้ายกับลินิน มาใส่กับเสื้อยืดแขนสั้นสีขาวที่หนากว่าตัวก่อนหน้า ได้ออกมาเป็นลุคง่ายๆแต่ใส่ได้จริงที่เรามักจะเห็นกันตาม magazine ญี่ปุ่นเป็นประจำ นอกจากนั้นคาร์ดิแกนยังเพิ่มสไตล์ให้เราใส่ได้อย่างหลากหลาย และถ้ารู้สึกว่ามันร้อนไป ก็ยังนำมาพาดบ่าให้ท่อนบนดูไม่โล้นจนเกินไปได้อีกด้วย
––
Woven + Knit
อย่างที่ผมบอกไปว่าการจับคู่ระหว่างเสื้อเชิ้ตกับเสื้อยืดเป็นอะไรที่ทำได้ง่ายมากๆ หลายคนก็เลือกใช้วิธีนี้อยู่เป็นประจำ แม้แต่ในฤดูร้อนก็ตาม แต่สำหรับผม ผมชอบใส่เสื้อยืดกับแจ็คเก็ตมากกว่า ซึ่งวันนี้ขอข้ามเรื่องของแจ็คเก๊ตไปก่อน เลยเลือกเป็น Knit มาเป็นชั้นนอกแทน
ชุดนี้น่าจะใส่กันหนาวได้ดีที่สุดในทุกชุดที่แนะนำในวันนี้ ด้วยเสื้อ rugby ที่มีความหนาพอสมควร สามารถใส่แทนเป็นเสื้อสเวตเตอร์ได้สบายๆ แต่ที่ไม่ค่อยเห็นฝรั่งเขาใส่กันในฤดูหนาวเพราะสีสันของมัน ฝรั่งเขานิยมใส่เสื้อให้ตรงกับ mood ของฤดูกาล ฤดูหนาวเราเลยเห็นแต่สีหม่นๆเต็มไปหมด แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับฤดูหนาวแบบไทยๆที่แดดเปรี้ยงแทบทุกวัน
––
Woven + Woven
ปกติแล้วเราจะไม่นิยมเลเยอร์แบบนี้กันเท่าไหร่นัก เพราะมันดูชนกันมั่วไปหมด แต่ด้วยเทรนด์ของเสื้อผ้าแบบ unconstructed ที่กำลังได้รับความนิยมกันอยู่ตอนนี้ เราเลยเห็นเสื้อที่เขาเรียกว่า shirt jacket มากขึ้น อย่างเช่น CPO shirt ที่ปกติเราเห็นแต่ที่เป็นผ้าวูล ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นที่เป็นผ้าฝ้าย หรือเสื้อแบบใหม่ๆที่พัฒนามาให้ใส่เป็นเลเยอร์ได้ง่ายขึ้น
แต่โจทย์ของเราคือเสื้อผ้า summer ผมเลยหยิบ seersucker สองตัวนี้มา ด้วยผ้าของตัวนอกที่ค่อนข้างอยู่ทรง บวกกับปกปลายโค้ง ที่ทำให้ได้อารมณ์ของ chore jacket เสียดายอย่างเดียวที่ตัวนี้ไม่มีกระเป๋า ถ้ามีมันจะยิ่งดูเหมือน shirt jacket ขึ้นไปอีก ส่วนตัวในเป็นเชิ้ตแขนสั้น button down ผมเลือกที่ความยาวของชายเสื้อใกล้เคียงกัน ไม่งั้นมันจะดูไม่เข้ากันอย่างสิ้นเชิง
––
สรุปแล้วชุดพวกนี้ใส่ในอากาศประมาณ 20-30 องศากำลังดี ถ้าต่ำกว่านี้อาจต้องเปลี่ยนไปเป็นเสื้อผ้าที่กันความเย็นได้มากขึ้น ซึ่งติดตามได้ในบทความต่อไปของเรา
สุดท้ายคงต้องเขียนย้ำกันบ่อยๆ ว่าควรจะรู้จักตัวเองก่อน เราขี้ร้อน ใส่แล้วร้อนก็อย่าไปฝืนใส่มันเลย เลือกใส่ที่มันเข้ากับชีวิตจริงเรามากที่สุด นั่นคือเสื้อผ้าที่ดีที่สุด