เทคนิคการ layer เสื้อผ้าหน้าหนาว
วันพรุ่งนี้ผมจะเดินทางไปญี่ปุ่น เป็นอีกครั้งที่ต้องไปเผชิญกับอุณหภูมิเลขตัวเดียว เดือนกุมภาพันธ์ที่ญี่ปุ่นยังถือว่าอยู่ในช่วงหน้าหนาว ซึ่งผมเคยไปช่วงนี้มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ตอนนั้นไปเที่ยว Shirakawa-go แล้วไปเล่น snowboard ด้วย ใครชอบหนาวๆแนะนำเลย ยิ่งถ้าไปที่สูงๆหนาวถึงขั้นติดลบ ถ้าไม่เคยสัมผัสมาก่อน อยากให้มาสัมผัสกันดู อากาศเวลามันหนาวนี่มันสุดขั้วเลยจริงๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีแฟนให้กอด (นี่มันหนาวหรือเหงากันวะ) วันนี้ผมเลยขอนำเสนอเรื่องเนิร์ดๆ เกี่ยวกับการเลือกเสื้อผ้าใส่กันเหงา … เอ้ย กันหนาว มาแบ่งปันกัน ซึ่งเป็นสิ่งพื้นๆที่ทุกคนควรรู้ไว้
ผมเองมีประสบการณ์หนาวๆอยู่หลายทริป แต่ก่อนก็เข้าใจว่าถ้าเจออากาศหนาวก็แค่ใส่เสื้อหลายๆชั้นแล้วก็หาแจ็คเก็ตกันหนาวมาใส่ทับ จบ วิธีนี้มันก็ใช้ได้ผลดีทีเดียวแต่มันติดตรงที่ว่าตัวเราจะบวมเป็นแหนม เพราะมีอะไรจับใส่ทับๆเข้าไป ยิ่งเยอะยิ่งอุ่น อะไรทำนองนั้น แถม size เสื้อผ้าก็ไม่เลือกเผื่อสำหรับการ layer อีก ยิ่งบวมไปกันใหญ่
จนได้มาเข้าใจหลักการใส่เสื้อกันหนาวที่ถูกต้อง ตอนมาสนใจพวกเสื้อผ้า outdoor คือมันง่ายมากถ้าเราเข้าใจหลักการนี้ เราสามารถปรับใช้ได้เองกับเสื้อผ้าที่เราใส่เที่ยวได้สบายๆ แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเวลาหนาว มันมี 2 แบบ คือ หนาวจากอากาศ และหนาวจากลม ซึ่งตัวหลังนี่แหละที่มันโหดร้ายกับเรามาก ทีนี้มาดูกันว่า layer ยังไงให้กันได้ทั้งหนาว กันได้ทั้งลม มีเพียง 3 layer เท่านั้น รับรองเดินเที่ยวชิลแน่นอน
1 • Base Layer • ชั้นเก็บความร้อน
ชั้นในสุดที่จะทำหน้าที่เก็บกักความร้อนจากตัวเรา เรามักจะรู้จักเสื้อผ้าชั้นนี้ในชื่อ Heattech Uniqlo มันกลายเป็นเหมือนไอเทมที่ถูกพูดถึงมากที่สุดไอเทมหนึ่งของ Uniqlo ก็ว่าได้ แต่ถ้าเคยลองใส่จริงแล้วจะรู้ว่ามันดีมากทีเดียว ด้วยผ้าที่ทอจาก polyester ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ระบายความร้อนอยู่แล้ว แถมทอมาแน่นซะขนาดนั้น แต่บางครั้งมันก็ทำให้เราร้อนจนอึดอัดเมื่อต้องเข้ามาอยู่ในอาคารหรือบนรถไฟ บางคนจึงเลือกที่จะใส่เป็นเสื้อยืดหรือเสื้อเชิ้ตแขนยาวแทน
- อย่าลืม tuck in ด้วยไม่งั้นลมมันจะลอดเข้าไปได้
- ถ้าอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 10c หรือไม่ได้อยู่กลางแจ้งนานๆผมจะไม่ใส่ชั้นนี้
- นอกจาก polyester แล้ว บางยี่ห้อก็ใช้เป็น Merino wool ซึ่งระบายอากาศได้ดีมากกว่าแต่ก็ยังให้ความอบอุ่นเราได้อยู่
2 • Insulated Layer • ชั้นกันหนาว
ชั้นที่สองคือชั้นที่กันความหนาวที่มันค่อยๆซึมเข้ามา ผ้าที่ทำมาจากขนสัตว์ทั้งหลายคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชั้นนี้ ปกติพวกสาย outdoor เขาจะใส่พวกเสื้อขนเป็ด (Down jacket) หรือไม่ก็เป็นพวก Fleece แต่สำหรับเราที่ไปเที่ยวในเมือง ก็จะหมายถึงเสื้อสเวตเตอร์ คาร์ดิแกน หรือใครชอบบวมๆก็มี Down jacket สวยๆ อย่าง Moncler, Fjällräven, Norse Projects ไว้ให้เลือกใส่กัน
สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามคือ ผ้าและคุณภาพของเส้นใย ใส่ Cotton 3 ตัวยังไงก็สู้ใส่ Wool ตัวเดียวไม่ได้ การเลือกผ้าที่ดีจะทำให้เราใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นลง ตัวก็จะไม่ดูบวมๆ ผมแนะนำให้เลือกใส่ผ้าวูล ซึ่งวูลมันก็มีหลายเกรด หลายชนิด แต่ที่ผมชอบมากสุดก็เห็นจะเป็น cashmere ซึ่งทำมาจากขนแพะ ลองแล้วจะรู้ว่า บางกว่า อุ่นกว่า มีอยู่จริง ไม่ใช่แค่นั้น มันยังนิ่มกว่าวูลขนแกะชนิดอื่นๆอีกหลายเท่า ส่วนข้อเสียมันมีอยู่อย่างเดียวคือ แพง (มาก) ผ้าแคชเมียร์ 100% ซึ่งเรามักจะเห็นแบรนด์ระดับสูงใช้กัน ราคาขึ้นหลักหมื่นทั้งนั้น ผมเองก็ไม่มีปัญญาซื้อพวกนี้หรอก ก็ได้แต่หาจากแบรนด์ fast-fashion ก็ได้จาก Uniqlo กับ Muji มา ถึงมันจะบางๆ สมกับราคา 3,000 บาท แต่มันก็ใส่อุ่นเหมือนพวกวูลขนแกะหนาๆ
อีกตัวเลือกที่จับต้องได้และถูกลงมาหน่อยก็จะเป็นพวกผ้าวูลและผ้าฝ้ายผสม โดยปกติจะมีส่วนผสมของแคชเมียร์ประมาณ 5-10% แต่ตัวเลขอันน้อยนิดนี้ กลับมีผลต่อความนิ่มของผ้ามหาศาล
- ชั้นนี้ไม่ควรใส่ตากฝน จำไว้ว่าขนสัตว์ทั้งหลายกลัวน้ำ
- ผ้าขนสัตว์คุณภาพดีใส่แล้วไม่คัน แถมยังนิ่มกว่าด้วย
- วิธีดู Down Jacket ให้ดูที่เลข Fill ยิ่งเลขสูงยิ่งอุ่นและมีน้ำหนักเบา เช่น 800 Fill Down
3 • Outer Layer • ชั้นกันลม
นี่คือสาระสำคัญของการ layer มันคือชั้นนอกสุดและเป็นชั้นที่ต้องกันลมให้อยู่หมัด เพราะที่เรารู้สึกหนาวๆกัน เราหนาวจากลมนี่แหละ ลมพัดมาทีเย็นเยือกไปถึงข้างใน นอกจากคุณสมบัติในการกันลมแล้ว บางครั้งเราก็ต้องการใช้มันกันฝนได้ด้วย แต่สำหรับคนเที่ยวในเมืองคงไม่ต้องซีเรียสกับเรื่องกันน้ำมากนัก เอาแค่กันพอได้ ไม่ซึมเร็วก็พอ พกร่มติดตัวไว้ หายห่วงแล้ว
ส่วนเรื่องของผ้าในชั้น outer นี้มีด้วยกันหลากหลาย ผ้า cotton ที่ทอแน่นมีซับในก็สามารถเป็นตัวเลือกในการกันลมได้ เช่นพวก ripstop หรือที่นิยมใช้กันก็เห็นจะเป็นพวกผ้าใยสังเคราะห์ Nylon Polyester ซึ่งพวกนี้กันน้ำได้ดีกว่าผ้าใยธรรมชาติ ส่วนวูลเรามักจะเห็นในรูปแบบของเสื้อ coat แต่ต้องเป็นวูลที่ทอแน่น และหนาพอสมควรถึงจะกันลมได้ ทำให้เสื้อ coat มักจะมีน้ำหนักมากกว่าเสื้อ outerwear แบบอื่นๆ
- เวลาเลือกซื้อ อย่าลืมเผื่อ size ถ้าลองกับเสื้อผ้าชั้นในให้ครบได้จะยิ่งดี เพราะเราสามารถทดสอบวงแขนได้ด้วย ส่วนใหญ่พวก slim fit ทั้งหลายเวลาเรา layer แล้วช่วงแขนจะติด ยกไม่ได้ข้าง รัดตรงใต้รักแร้บ้าง ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ให้เลือก size ที่ใหญ่ขึ้น
- ความยาวของเสื้อชั้นนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการกันลมได้ดียิ่งขึ้น
- การมีชั้น outer layer หลายตัว หนาบ้าง บางบ้าง ไม่เพียงแค่ทำให้เราดูแตกต่างในแต่ละวันของการไปเที่ยว แต่ยังช่วยให้เลือกใส่กับอากาศที่เปลี่ยนแปลงระหว่างทริปได้ด้วย
นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ และก็ไม่ใช่ checklist ที่ต้องใส่ให้ครบทุกชั้นตามนี้ แต่มันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เราเลือกซื้อและเลือกใส่เสื้อผ้าสำหรับเที่ยวหน้าหนาวได้ง่ายขึ้น อย่างที่เกริ่นไปตั้งแต่แรกว่าเรื่องนี้มันค่อนข้างเนิร์ดไปหน่อย แต่ก็อยากให้เข้าใจในสิ่งที่เราเลือกใส่ว่ามันมีจุดประสงค์ของมัน ไม่ใช่แค่ใส่แล้วหล่อ ใส่แล้วเท่อย่างเดียว มันต้องใช้งานได้จริงด้วย ผมว่าเมื่อเรารู้ว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นมันทำหน้าที่อะไร มันทำได้ขนาดไหน เราก็ปรับใช้ได้เอง หนาวแค่ไหน ก็ใส่แค่นั้น
สุดท้ายก็ใส่สไตล์เข้าไปซะ
มาถึงตรงนี้หลายคนคงมีเครื่องหมายคำถามในหัวตัวเบ้อเริ่มว่า ใส่สไตล์ไปยังไงถึงจะจ๊าบ แต่งตัวหน้าหนาวในแบบฉบับของเราจะเป็นอย่างไร ต้องตามกันดูในบทความต่อไป